คุณกำลังมองหาอะไร?

วิ

วิบริโอ สปีชีส์ (Vibrio spp)

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

01.01.2513
1080
0
แชร์
01
มกราคม
2513

 

วิบริโอ สปีชีส์ (Vibrio spp)

     แบคทีเรียสกุล Vibrio มีรูปร่างเป็นท่อน โค้งเล็กน้อย มีขนาด 0.5 1-1.5 ไมโตรเมตร ติดสีแกรมลบ ไม่มีสปอร์ ไม่มีแคปซูล เคลื่อนที่ได้ด้วยแฟลกเจลลาที่มีอยู่หนึ่งเส้นที่ปลายขั้วด้านหนึ่ง เชื้อพวกนี้พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เชื้ออ่อนไหวต่อความเป็นกรด แต่สามารถเจริญได้ดีในอาหารที่มี pH 9-10 สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำทะเลหรือน้ำที่มีสภาพเป็นด่างได้นาน 1-2 สัปดาห์ แต่จะตายได้ง่ายเมื่ออยู่ในน้ำโสโครก มีชีวิตอยู่ตามพืชผัก ผลไม้ และในอาหารต่างๆ ได้หลายวัน เชื้อจะถูกทำลายเมื่อต้มที่ 56 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที Vibrio มีอยู่ประมาณกว่า 30 เชื้อสาย เชื้อส่านที่มีความสำคัญทางการแพทย์ ได้แก่ Vibrio cholerae, V. parahemolyticus, V. alginolyticus, V. vulnificus, V. fluvialis (group F vibrio หรือ EF6), V. mimicus และ V. metschnikovii เชื้อ V. cholerae ทำให้เกิดอหิวาตกโรคในคน และเป็นโรคติดต่อที่มีการระบาดรวดเร็วมาก ส่วนเชื้อสายอื่นๆทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงที่มีอาการคล้ายอหิวาตกโรค แต่เดิมการระบาดเกิดจากเชื้อชนิดคลาสสิก (classical vibrio) หรือเชื้ออหิวาต์แท้ ปัจจุบันมักเกิดจากเชื้อชนิดเอลทอร์ (El Tor vibrio) โรคนี้มักระบาดในฤดูร้อน เชื้ออหิวาต์เจริญได้ดีในอาหารที่เป็นเบส ไวต่อความร้อนและภาวะที่เป็นกรด ถูกทำลายเมื่อถูกความร้อน 55 องศาเซลเซียส 10 นาที

     กลไกการเกิดโรค เนื่องจากผู้ป่วยได้รับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาต์ปนเปื้อน เชื้อจะไปเจริญอยู่ที่ผิวเยื่อเมือกของลำไส้เล็ก และปล่อยทอกซินออกมา เชื้อจะไม่เข้ากระแสเลือด และไม่บุกรุกเข้าเนื้อเยื่อชั้นใน ทอกซินจากตัวเชื้อจะไปกระตุ้นอะดีนีลไซเคลส (adenyl cyclase) ทำให้เปลี่ยน ATP เป็นไซคลิกเอเอ็มพี (cyclic AMP , cAMP) มีผลให้เกิดการสะสมของน้ำอิเล็กโตรไลท์ในช่องว่างลำไส้ จึงเกิดอาการอุจจาระร่วง

     อาการโรคที่สำคัญ คือ อุจจาระร่วงรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อุจจาระไหลพุ่งอย่างแรง อุจจาระคล้ายน้ำซาวข้าว อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นตระคริว ผู้ป่วยจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก ทำให้อ่อนเพลีย อาจรุนแรงจนเสียน้ำวันละประมาณ 20 ลิตร การเสียน้ำมากทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในร่างกาย และช็อกได้ ผู้ป่วยมีผิวหนังเหี่ยว ตาลึก เสียงแหบ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ แต่ไม่มีไข้ และอาจถึงตายได้ถ้าไม่ได้รับการักษาทันท่วงทีและทดแทนด้วยน้ำและอิเล็กโตรไลท์อย่างเพียงพอ

 

ข้อมูลโดย.-

  • นฤมล ตปนียะกุล
    นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญฯ
  • วาสนา คงสุข
    นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ

รวบรวมและเรียบเรียง :

เอกสารอ้างอิง :

  • Guidelines for Drinking – water Quality, 3 rd ed., WHO (Geneva), 2004
  • Guidance Manual for Drinking Water Quality Monitoring and Assessment – Second Edition , WHO (Country Office for India), 2010
  • Sawyer, C.N. , Mc Carty , P.L. and Parkin, G.F. “Chemistry for Environmental Engineering” 4th ed., Mc Grow – Hill, New York, 1994.
  • Standard Methods for the Examination of Water and Wastewater, APHA , AWWA & WEF, 21st ed., 2005

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน