คุณกำลังมองหาอะไร?

ชุ

ชุดตรวจสอบไอโอดีนในเกลือ อ 36

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

10.12.2563
290
0
แชร์
10
ธันวาคม
2563

 

ชุดตรวจสอบไอโอดีนในเกลือ อ 36

 

 a36_1 

 

การตรวจสอบไอโอดีนในเกลือ ด้วยชุด อ 36

          :: ไอโอดีนเป็นเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรรอกซีน การขาดสารไอโอดีนจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคคอพอก และยังส่งผลต่อการเจริญของสมอง ซึ่งถ้าหญิงตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนในช่วงระยะตั้งครรภ์ ลูกที่คลอดออกมาจะมีโอกาสเป็นปัญญาอ่อน หรือที่เรียกว่า โรคเอ๋อ

          :: ข้อมูลการใช้เกลือเสริมไอโอดีนจากกรมอนามัย ปี 2550 พบว่ามีความครอบคลุมเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนอยู่ระหว่างร้อยละ 50.6-66.8 และมีเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่มีปริมาณเกลือไอโอดีนมากกว่า 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในปริมาณเพียงร้อยละ 54 เท่านั้น ซึ่งกรมอนามัยได้มีมาตรการเร่งด่วนในขณะนี้คือการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 153 พ.ศ. 2537 (มีปริมาณไอโอดีนในเกลือไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ในการปรุงอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เป็นมาตรการหลักและใช้อาหารเสริมไอโอดีน เป็นมาตรการเสริมอีกทางหนึ่งในการควบคุมและป้องกัน ซึ่งการมีชุดตรวจสอบทางภาคสนามอย่างง่าย เพื่อการตรวจสอบปริมาณไอโอดีนในเกลือ จะเป็นทางหนึ่งในการส่งเสริมให้ท้องถิ่น ประชาชนและผู้ผลิตเกลือมีส่วนร่วมตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพของเกลือให้มีปริมาณไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม

          :: ศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัยจึงได้คิดค้นชุดตรวจสอบไอโอดีนในเกลือทางภาคสนาม (อ 36) โดยใช้หลักการ Colorimetric Method ซึ่งสามารถตรวจสอบปริมาณไอโอดีนในเกลือในช่วงที่ระดับความเข้มข้น 0, 5, 10, 20, 30, 40 และ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม การตรวจสอบไอโอดีนในเกลือด้วยวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก มีความถูกต้องน่าเชื่อถือและราคาประหยัด โดยการอ่านค่าปริมาณไอโอดีนในเกลือ จากการเปรียบเทียบสีกับแผ่นเทียบสีมาตรฐานของชุดตรวจสอบไอโอดีนในเกลือทางภาคสนาม (อ 36)

          :: จากการศึกษาวิจัยพบว่าการตรวจสอบไอโอดีนในเกลือทางภาคสนาม อ 36 ตามขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องแล้วพบว่า ให้ความถูกต้องน่าเชื่อถือซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ซึ่งทั้งสองวิธีไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) 0.997 ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน